ผ่าตัดฟันคุด
Table of Contents
Table of Contents
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับฟันคุด ฟันคุดคืออะไร ไม่ถอนได้ไหม ถอนฟันคุดเจ็บไหม
คุณหมอบอกว่าเรามีฟันคุดที่ต้องผ่าหรือถอนออก หากทิ้งไว้อาจทำให้ปวดจนรำคาญใจ ซึ่งปัญหาของฟันคุดที่มีการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันนั้นเป็นหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นได้บ่อย แต่ฟันคุดนั้นมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องเอาออก ถ้าไม่ปวดสามารถปล่อยไว้ได้ไหม บางกอก นิว สไมล์ มีคำตอบมาฝากค่ะ
ฟันคุด คืออะไร
ฟันคุด (Wisdom tooth) คือฟันกรามซี่ในสุด หรือฟันกรามใหญ่ซี่ที่ 3 มักไม่ขึ้นในช่องปาก เนื่องจากเป็นฟันซี่สุดท้ายที่ขึ้นมา ในบางครั้งพบว่าขนาดของซี่ฟันใหญ่กว่าช่องที่เหลืออยู่ ทำให้ฟันกรามซี่นี้ขึ้นได้บางส่วน หรือขึ้นไม่ได้เลย หากขึ้นได้บางส่วน มักจะเอียงชนฟันกรามซี่หน้าต่อฟันคุดนั้นๆ
ทำไมต้องผ่าหรือถอนฟันคุด
ด้วยลักษณะการขึ้นของฟันคุดที่มักขึ้นมาเอียงๆชนกับฟันกรามจึงทำให้มีการผุ กร่อน มีกลิ่นปากจากเศษอาหารติดหมักหมมตรงซอกฟัน และนำไปถึงอาการฟันข้างเคียงโยก ปวด บวม อักเสบ ตั้งแต่ปานกลางจนถึงรุนแรง ในบางกรณีพบว่าเนื้องอกและถุงน้ำมีการเกิดร่วมกับฟันคุดได้ด้วย ในบางกรณีฟันคุดจะมีปัญหาต่อการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ทำให้การเคลื่อนฟันเป็นไปอย่างล่าช้า ทันตแพทย์จำเป็นจะต้องเอาฟันคุดออก และในบางกรณีฟันคุดที่ขึ้นมาภายหลังจากฟันซี่อื่นๆอาจ ส่งแรงดันทำให้ฟันหน้าบนหรือล่างบิด เก ได้อีกด้วย
ฟันคุดแบบไหนที่ต้องผ่า
ฟันคุดที่ไม่สามารถเอาออกด้วยการถอน และจำเป็นต้องได้รับการผ่า ฟันคุดที่มีเนื้อเหงือกปกคลุมฟันคุดที่ขึ้นมาบางส่วนและมีกระดูกขวางหรือเอียงชนฟันซี่ข้างเคียง
มีฟันคุดแต่ไม่ปวด จำเป็นต้องเอาออกไหม
จำเป็นเพราะฟันคุดมักก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมามากมาย เช่น เหงือกอักเสบ รากฟันละลาย ติดเชื้อในช่องปากลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญใกล้เคียง ฟันหน้าล้มเกจากแรงดันของฟันคุด และอาจเกิดถุงน้ำ เนื้องอก และ มะเร็งขากรรไกรได้ ดังนั้นการเอาฟันคุดออก จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆในช่องปากได้ ถึงแม้ฟันคุดของเรา อาจจะยังไม่ก่อให้เกิดอาการปวด ก็ควรเอาออกตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
ปวดฟันคุดมาก ทานยาแก้ปวดได้ไหม
การทานยาแก้ปวดเป็นการบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็จะกลับมามีอาการปวดและอักเสบ เพราะสาเหตุการปวด (ฟันคุด) ยังไม่ถูกกำจัดออกไป ดังนั้นแม้จะสามารถทานยาแก้ปวดเพื่อให้อาการปวดทุเลาลงได้ ก็ควรรีบนัดทันตแพทย์เพื่อจัดการกับฟันคุดทันที
ขั้นตอนการถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด
อันที่จริงแล้วการถอนฟันคุดนั้นไม่ได้เป็นหัตถการที่น่ากลัวแต่อย่างใด ก่อนทำการถอนหรือผ่าฟันคุดนั้น ทันตแพทย์จะทำการ X-ray เพื่อตรวจดูตำแหน่งของฟันคุด ลักษณะและองศาการขึ้น รวมไปถึงระยะห่างจากเส้นประสาทก่อน หลังจากนั้นจะทำการฉีดยาชา และเริ่มเอาฟันคุดออก อาจต้องมีการเปิดเหงือก หรือกรอแบ่งฟันเป็นชิ้นๆเพื่อที่จะเอาฟันคุดออกโดยไม่ส่งผลเสียต่อฟันซี่ข้างเคียง หลังจากนั้นจะมีการล้างและทำความสะอาดแผล เย็บแผล และ จ่ายยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ หลังจากนั้น 7 วัน คุณหมอจะให้มาตัดไหมและล้างทำความสะอาดแผล
ผ่าฟันคุดเจ็บไหม
ระหว่างที่ผ่าฟันคุกนั้นไม่ควรมีอาการเจ็บเพราะก่อนผ่าฟันคุด จะมีการฉีดยาชาเพื่อลดอาการเจ็บปวดอยู่แล้ว หอกคนไข้รู้สึกได้ถึงอาการเจ็บบริเวณที่ทำการรักษา ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบโดยทันที แต่หลังจากผ่าไปแล้วและยาชาหมดฤทธิ์ ก็จะมีอาการเจ็บแผลคล้ายเป็นร้อนใน แต่ก็จะได้รับยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบเพื่อช่วยบรรเทาอาการหลังผ่าฟันคุด
หลังผ่าฟันคุด กินอะไรได้บ้าง
ควรทานอาหารอ่อน และ งดอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อน และหมักดอง แอลกอฮอลล์
หลังผ่าฟันคุด ปวดหรือบวมกี่วัน
ประมาณ 3 วันแรก จะมีอาการบวมตามกระบวนการหายของแผล หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆทุเลา และเมื่อตัดไหมเรียบร้อยแล้ว สามารถทำความสะอาดแผลฟันคุด และฟันซี่ไกล้เคียงได้อย่างเต็มที่ อาการจะค่อยๆดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 1 เดือน
ถอนฟันคุดแล้วเลือดไหลไม่หยุดทำยังไงดี
ถ้าเลือดไหลไม่หยุดภายหลังการถอนฟันหรือผ่าฟันคุด ห้ามอมน้ำแข็งเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำแข็ง แต่ควรใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบนอกปากบริเวณใกล้เคียงที่ถอนฟันหรือผ่าฟันคุดเพื่อช่วยกระตุ้นการแข็งตัวของเลือดและบรรเทาการบวมอักเสบ ทั้งนี้หากประคบเย็นแล้วเลือดไม่หยุดไหล ต้องติดต่อไปยังคลินิกที่เข้ารับบริการด่วน
ฟันคุดไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บไว้ นอกจากจะทำให้ฟันผุแล้วอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงอื่นๆในช่องปากอีกด้วย ดังนั้นไม่ต้องรอให้มีอาการปวดแล้วค่อยเอาออก หากทันตแพทย์ตรวจพบฟันคุดและนำให้เอาออก ควรรีบจัดการก่อนมีอาการที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น